Loading...

ประวัติคณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีดำริที่จะจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ดังมีหลักฐานปรากฏในข้อเสนอแผนดำเนินการโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนาคม 2521 ความว่า “25 ธันวาคม 2511 สภาการศึกษามีหนังสือ ที่ สร.0411 (1) แจ้งว่าได้ส่งเรื่องไปยังมูลนิธิฟอร์ดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอความช่วยเหลือในการจัดสอนทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปริญญาตรี และช่วยในการวางแผนก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่รังสิตและวังหน้า” หลังจากปี 2511 ก็ได้มีการพัฒนาที่ดินมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รังสิตมาโดยลำดับ และได้มีการจัดส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มหาวิทยาลัยประสบภาวะวิกฤตการณ์ ทางด้านการเมือง จึงทำให้โครงการต่าง ๆ ต้องชงักงันไป

ในปี พ.ศ. 2531 สมัยศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอโครงการจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในช่วงการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 6 โดยผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 และจัดส่งให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 ขณะเดียวกันได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2531 พิจารณาเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ยกฐานะวิทยาลัยในหลายจังหวัดขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยและได้มีมติ “ให้ทบวงมหาวิทยาลัยรับไปพิจารณาเสนอจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน”

เมื่อข้อเสนอโครงการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 6 ของทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2531 และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ในเดือนกรกฎาคม 2532 แล้ว ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปยังสำนักงาน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยต้องให้สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ. พิจารณาเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2532 และได้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะฯ ให้สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา จากนั้นสำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีได้ส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการเพื่อโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2532 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงถือว่าวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2532 เป็นวันจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ในช่วงการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2533 - 2534 (2 ปีสุดท้ายของแผน) เพื่อให้มีส่วนในการผลิตวิศวกรสาขาต่าง ๆ ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ อันเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงกำหนดให้วันนี้เป็นวันสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเป็น คณะที่ 10 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งที่ 9 ในมหาวิทยาลัยของรัฐโดยเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ปีการศึกษา 2533 เป็นต้นมา

ปีการศึกษา การดำเนินงาน
2533 เปิดรับนักศึกษา 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
2534 เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
2536 เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี
2538 เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
2539 เปิดรับนักศึกษาโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย แห่งน็อตติ้งแฮมประเทศอังกฤษ 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
2540 เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
2545 เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล เปิดรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาโท 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาเคมี เปิดรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา เปิดหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
2549 เปิดรับนักศึกษาโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย แห่งนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรม อุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
2551 เปิดหลักสูตรปริญญาตรี-โท วิศวกรรมศาสตร์และการจัดการเชิงธุรกิจ (Engineering and Business Management) และหลักสูตรปริญญาโท-เอก วิศวกรรมทางการแพทย์ (Medical Engineering)
2554 เปิดหลักสูตรควบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตและวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าอุตสาหการ (Integrated Program of Bachelor and Master of Engineering in Industrial Electrical Engineering)
2556 เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) (Automotive Engineering Program)
2557 เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Bachelor of Engineering Program in Software Engineering)
2561 เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ (Bachelor of Engineering Program in Vehicle Technology Engineering)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้ขยายการเรียนการสอน และให้บริการศูนย์ฝึกอบรม สัมมนาในภูมิภาค มีนโยบายที่จะพัฒนาศูนย์การศึกษาภูมิภาคอย่างจริงจัง เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และนำความเป็นเลิศทางวิชาการ วิธีคิดและวิถีของความเป็นธรรมศาสตร์ไปสู่ชุมชนภาคภาคตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2557 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้รับเงินสนับสนุนจาก บริษัท สยามกลการ จำกัด ในการสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ เป็นจำนวนเงิน 68 ล้านบาท และอาคารสนับสนุนการเรียนการสอน (หอพัก) เป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทสยามกลการยังได้บริจาคเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ และทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ที่มีผลการเรียนดี

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
Thammasat School of Engineering (TSE)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเป็นคณะที่ 10 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งที่ 9 ในมหาวิทยาลัยของรัฐ และเริ่มจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 เป็นต้นมา โดยมีหน้าที่จัดการศึกษา ทำการวิจัย นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และให้บริการทางวิชาการ

คณบดี ศ.ดร.สัญญา มิตรเอม
สีประจำคณะ สีเลือดหมู
เว็บไซต์ www.engr.tu.ac.th
ที่อยู่
  • ศูนย์รังสิต เลขที่ 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
  • ศูนย์พัทยา เลขที่ 39/4 หมู่ 5 ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20150

ความพร้อมทางด้านบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์มีจำนวนบุคลากรสายวิชาการจำนวน 118 คน สายสนับสนุนวิชาการจำนวน 124 คน โดยคุณวุฒิและตำแหน่งทางวิชาการบุคลากรสายวิชาการ ระดับปริญญาเอก จำนวน 109 คน คิดเป็นร้อยละ 89 แบ่งเป็น ตำแหน่งอาจารย์ 24 คน ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ 47 คน ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ 41 คน และตำแหน่งศาสตราจารย์ 5 คน

ตำแหน่งทางวิชาการ คุณวุฒิการศึกษา รวม
ปริญญาโท ปริญญาเอก
อาจารย์ 8 16 24
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 6 41 47
รองศาสตราจารย์ - 41 41
ศาสตราจารย์ - 5 5
รวม 14 104 118

ความพร้อมทางด้านหลักสูตร

โครงการปกติ

จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย 4 ปี ที่ศูนย์รังสิต เปิดสอน 5 ภาควิชา ดังนี้

  • ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์
  • ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
  • ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา
  • ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ

ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่

โครงการพิเศษ หลักสูตรภาษาอังกฤษ (TEP-TEPE)

2.1 โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (TEP: Twinning Engineering Programmes)

หลักสูตรภาษาอังกฤษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เริ่มเปิดทำการเรียนการสอนในหลักสูตร Twinning Engineering Programmes (TEP) เป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ The University of Nottingham ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2539 โดยนักศึกษาที่ศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวจะต้องเรียนชั้นปีที่ 1-2 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษชั้นปีที่ 3-4 ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาวิศวกรรมศาตรบัณฑิต (วศ.บ.) จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และ Bachelor of Engineering จาก University of Nottingham

ต่อมาในภายหลังคือในปีพ.ศ. 2549 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ขยายความร่วมมือในการจัดการศึกษาในลักษณะเดียวกันกับ UNSW Sydney ประเทศออสเตรเลีย และล่าสุดในปี 2560 ได้ขยายความร่วมมือกับ KU Leuven ประเทศเบลเยี่ยม กล่าวคือนักศึกษาที่ต้องการศึกษาในหลักสูตร TEP สามารถเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ต้องการได้ ซึ่งก่อนเดินทางไปศึกษาต่อในชั้นปีที่ 3 และ 4 นักศึกษาจำเป็นจะต้องได้รับการประเมินผลการเรียนและทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งตามเกณฑ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด

The University of Nottingham, UK

The University of Nottingham หรือ NU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1798 และได้รับการจัดอันดับที่ 82 ใน QS World ranking (2017-2018) นักศึกษาที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ 2 ปีหลัง เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นปีที่ 2 จะต้องมีเกรดเฉลี่ยอย่างน้อย 2.40 และมีผลการสอบ IELTS ไม่ต่ำกว่า 6.0 แต่ละทักษะต้องไม่ต่ำกว่า 5.5 นอกจากนี้ นักศึกษาทุกคนจะได้รับส่วนลดค่าเทอม 25% และถ้านักศึกษาเรียนดีติดอันดับ 1-4 ของชั้นปี จะได้รับส่วนลดค่าเทอมเพิ่มอีก 15%

UNSW Sydney, Australia

UNSW Sydney เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับ 1 ใน 8 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศออสเตรเลีย และได้รับการจัดอันดับที่ 45 ใน QS World ranking (2017-2018) นักศึกษาที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ 2 ปีหลัง เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นปีที่ 2 จะต้องมีเกรดเฉลี่ยอย่างน้อย 2.50 และมีผลการสอบ IELTS ไม่ต่ำกว่า 6.5 แต่ละทักษะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 6.0

Ku Leuven, Belgium

เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดและมีการจัดอันดับสูงสุดในเบลเยี่ยมรวมทั้งมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป และได้รับการจัดอันดับที่ 81 ใน QS World ranking (2017-2018) รับเฉพาะสาขาเครื่องกลจากหลักสูตร TEP เท่านั้น เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นปีที่ 2 จะต้องมีเกรดเฉลี่ยอย่างน้อย 2.50 และมีผลการสอบ IELTS ไม่ต่ำกว่า 6.5 แต่ละทักษะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 5.5

2.2 โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตภาคภาษาอังกฤษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ TEPE (Thammasat English Programme of Engineering)

ในปีพ.ศ. 2545 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต หลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นหลักสูตร 4 ปี จัดการเรียนการสอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมยานยนต์ คล้ายคลึงกับหลักสูตร TEP แต่เป็นหลักสูตรที่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ต่ำกว่า อีกทั้งหลักสูตร TEPE ได้มีการขยายความร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (Exchange Programmes) กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ นอกจากนี้หลักสูตร TEPE ยังมีทุนการศึกษาให้จำนวน 30 ทุน แบ่งออกเป็นทุนเต็มจำนวน 20 ทุน และทุนบางส่วน 10 ทุน

โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (TU-PINE) จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย

ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลายเข้ามาในหลักสูตรทางวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้มีการจัดตั้งโครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (Programme of Innovative Engineering) หรือ TU-PINE เพื่อพัฒนาและบริหารหลักสูตรเชิงบูรณาการ โดยมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ใน 4 สาขาวิชาดังนี้

สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและการบริหารการก่อสร้าง (EBM) จัดการเรียนการสอน 4 ปี ที่ มธ.รังสิต

หลักสูตรโดยความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นหลักสูตรที่เพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ให้กับนักศึกษาที่มีความสนใจด้านวิศวกรรมศาสตร์ ควบคู่กับด้านบริหารจัดการ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าอุตสาหการ (iPEN-iEE) จัดการเรียนการสอน 4 ปี ที่ มธ.รังสิต

หลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ผสมผสานองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอุตสาหการ เพื่อตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างลงตัว สร้างบุคลากรในด้านวิศวกรรมที่มีองค์ความรู้ทั้งวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรม อุตสาหการควบคู่ไปด้วยกัน

สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) ปี 1 เรียนที่ มธ.รังสิต + ปี 2-4 เรียน ที่ มธ.พัทยา

เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการผลิตวิศวกรซอฟต์แวร์คุณภาพสูง ที่มีความสามารถทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ มีความสามารถด้านการสื่อสารและประสานงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นเชิงปฏิบัติการเพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการออกแบบ พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้รายวิชาในหลักสูตรยังมีการเสริมแนวคิดเชิงธุรกิจเพื่อให้บัณฑิตที่จบการศึกษาไปมีมุมมองในการสร้างธุรกิจทางซอฟต์แวร์ต่อไป

สาขาวิชาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ (V-TECH) จัดการเรียนการสอน 4 ปี ที่ มธ.พัทยา

หนึ่งในหลักสูตรพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เน้นการเรียนรู้เชิงบูรณาการกับการทำงานและประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ของประเทศไทย อีกทั้งยังได้ไปฝึกงานจริงกับบริษัทผู้ผลิตและประกอบ ยานยนต์ เช่น สยามกลการ โตโยต้า ไทรอัมพ์ ฯลฯ

ความพร้อมด้านงานวิจัย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมศาสตร์ 3 ศูนย์ (Excellent Center) ได้แก่

  • ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในงานวิศวกรรม
  • ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์
  • ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและการดูดซับด้านสิ่งแวดล้อม